รายได้ 5 ช่องทาง ที่โควิด-19 ทำพิษกับสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ตั้งการแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษต้องถูกระงับ ซึ่งนับว่าสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะการแข่งขันฟุตบอลคืออุตสาหกรรมหลักที่ทำเงินให้แก่ประเทศ กระทั่งฟุตบอลกลับมาแข่งขันได้ใหม่ แต่ก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของแฟนบอลที่เข้าสนาม ตลอดจนรายได้ที่เข้าสู่สโมสรที่ลดลง ซึ่งจะมีเพียงค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเท่านั้นที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงสำคัญให้ทีมต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้

ฉะนั้นแล้วในวันนี้เราจะมาเผย รายได้ 5 ช่องทาง ที่โควิด-19 ทำพิษกับสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ซึ่งเชื่อว่าบางอย่างท่านน่าจะเดาถูก แต่บางอย่างน่าเป็นสิ่งที่ท่านคาดไม่ถึงแน่ๆ


สโมสรบอลตั๋วเข้าชมการแข่งขัน

1. ตั๋วเข้าชมการแข่งขัน

หากใครดูฟุตบอลอังกฤษเป็นประจำ จะพบว่าเกือบทุกสนามจะมีแฟนบอลเข้าไปเต็มความจุ ฉะนั้นการขายตั๋วจึงเป็นรายได้หลักที่มั่นคงที่สุด แต่ใครจะไปคาดคิดว่าโควิด-19 จะทำให้การขายตั๋วมีมูลค่าเป็นศูนย์ ในระยะเวลานานนับแรมปี

  • สำหรับฟุตบอลอังกฤษจะมีความพิเศษกว่าลีกฟุตบอลในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ว่าทีมจะอยู่ในระดับชั้นไหนจะต้องมีแฟนบอลเข้ามาชมอย่างเนืองแน่น นั่นจึงทำให้การขายตั๋วกลายเป็นรายได้หลักที่มั่นคงที่สุดของสโมสรมานานนับร้อยปี กระทั่งปี 2020 ใครจะไปเชื่อว่าโควิด-19 จะทำให้การมารวมตัวกันของคนหมู่มากไม่สามารถทำได้ ซึ่งทีมในพรีเมียร์ลีกได้รับผลกระทบในระดับที่ไม่หนักหนามาก แต่หากหันลงไปมองทีมลีกล่างที่พึ่งพารายได้จากค่าตั๋วเข้าชมเป็นหลัก ตอนนี้ต่างมีสถานภาพทางการเงินที่เข้าขั้นวิกฤต ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสมาคมฟุตบอลอังกฤษจะเยียวยาและช่วยเหลือมากขนาดไหน
  • นอกจานี้ความจุของสนามนับว่ามีผลต่อความเสียหาย โดยหากสนามจุได้มากก็จะยิ่งเจ็บตัวมาก อาทิ สนามโอลด์แทรฟฟอร์ด ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีความจุอยู่ราวๆ 75,000 ที่นั่ง ฉะนั้นถ้าขายตั๋วหมดจะได้เงินราว 4 ล้านปอนด์/นัด และนับจากเกมพรีเมียร์ลีกในบ้าน 19 นัด จะได้ราว 76 ล้านปอนด์ เป็นอย่างน้อย โดยจำนวนนี้ยังไม่รวมเกมเอฟเอ คัพ, คาราบาวคัพ และในถ้วยยุโรป ซึ่งเงินจำนวนนี้นับเป็นมูลค่าที่มหาศาลจนสามารถนำไปจ่ายเงินเดือนนักเตะ หรือซื้อผู้เล่นใหม่ระดับพรีเมี่ยมได้เลย ฉะนั้นหากเป็นทีมเล็กลงไปก็ลองจินตนาการดูว่าจะสาหัสขนาดไหน

สโมสรบอลสินค้าที่ระลึก

2. สินค้าที่ระลึก

เสื้อแข่งขันเป็นธรรมเนียมของแฟนบอลที่นั่นที่ต้องซื้ออยู่แล้ว แต่ในวันที่มีการแข่งขันก็ยังสามารถขายของชนิดอื่นๆ ได้อีก โดยนี้ยังไม่รวมแฟนบอลต่างชาติที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปดูอีก ว่าจะกวาดซื้อกันไปอีกคนละเท่าไร

  • แฟนบอลที่อังกฤษจะมีธรรมเนียมในการซื้อเสื้อแข่งของทีมเป็นประจำทุกปี ฉะนั้นนี้จึงเป็นรายได้ที่ยังพอจุนเจือให้สโมสรเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าปีนี้จะพิเศษหน่อย เพราะต้องสั่งซื้อออนไลน์แล้วให้สโมสรส่งไปให้ที่บ้าน
  • แต่ถึงกระนั้น การที่แฟนบอลไม่สามารถมาดูฟุตบอลที่สนามได้ก็มีผลต่อรายได้ของสโมสรอยู่ดี เพราะทุกทีมในอังกฤษล้วนมีร้านค้าของสโมสรตั้งอยู่ในบริเวณสนาม หรือในส่วนต่างๆ ของเมือง เมื่อใดที่มีเกมการแข่งขัน แฟนบอลจะนิยมการเข้าร้านค้าเพื่อหนังสือแมตช์เดย์ น้ำดื่ม หรือลูกอม และในบางครั้งอาจไปเห็นสินค้าที่สะดุดตาพอดี ซึ่งนี่คือรายได้ที่แต่ละทีมจะขาดหายไป
  • ในช่วงหลังเริ่มมีแฟนบอลจากฝั่งเอเชีย ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย ตามไปดูที่อังกฤษ ซึ่งก็ลองจินตนาการเอาเองว่าถ้าชีวิตนี้มีโอกาสไปยังสนามของทีมที่ท่านรัก ท่านคงจะจ่ายหนักจนกว่าเงินจะหมดเป็นแน่ เพราะบางสิ่งบางอย่างไม่มีขายที่ไทย หรือการจะพรีออเดอร์ออกก็ย่อมมีค่าส่วนต่าง ฉะนั้นสำหรับกลุ่มแฟนบอลขาจรเหล่านี้ ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้ทีมใหญ่ๆ ขาดรายได้

สโมสรบอลหนังสือแมตช์เดย์

3. หนังสือแมตช์เดย์

แม้ว่าเทคโนโลยีของโลกใบนี้จะทำให้พฤติกรรมการอ่านของเราไปอยู่ที่จอโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์มากขึ้น แต่สำหรับแฟนบอลที่อังกฤษยังคงมีธรรมเนียมในการซื้อหนังสือแมตช์เดย์ไม่เสื่อมคลาย

  • ทีมใหญ่ๆ ในลีกของไทยก็เคยมีหนังสือแมตช์เดย์ขาย แต่ในช่วงหลังเริ่มเสื่อมความนิยมลง จนทำให้หลายทีมหันไปทำแผ่นผับแจกและแนบมากับตั๋ว ส่วนที่อังกฤษ ไม่ว่าจะโลกจะเดินหน้าไปขนาดไหน พวกเขาก็ยังคงมีธรรมเนียมในการซื้อหนังสือแมตช์เดย์ โดยพวกเขาจะซื้อเพื่อเป็นที่ระลึกและเก็บสะสมไว้เป็นสมบัติของตระกูลเลยทีเดียว ซึ่งหนังสือแมตช์เดย์บางเล่มเมื่อนานวันก็มีมูลค่าที่สูงมาก เช่น แมตช์เดย์นัดที่ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีก แมตช์เดย์วันที่เลสเตอร์คว้าแชมป์ลีก หรือแมตช์เดย์ที่แมนซิตีโค่นควีนปาร์ค เรนเจอร์ แล้วได้แชมป์ลีกในรอบ 44 ปี
  • การที่แฟนบอลเข้าสนามไม่ได้ แน่นอนว่าหนังสือแมตช์เดย์ก็ขายไม่ได้ตามระเบียบ แต่มูลค่าที่เสียหายนั่นก็คือ รายได้จากสปอนเซอร์ที่เอาโฆษณามาลงในหนังสือ โดยกับทีมใหญ่ๆ แน่นอนว่าเสียหาย แต่หายเป็นทีมเล็กๆ ที่เล่นถ้วย FA CUP แล้วจับมาเจอกับทีมใหญ่ ตรงนี้นับว่าน่าเห็นใจ เพราะพวกเขาจะสูญเสียรายได้ครั้งสำคัญในรอบหลายปี หรือในรอบทศวรรษเลยก็ว่าได้ ซึ่งมันมีมูลค่าหลักแสนถึงหลักล้านปอนด์

สโมสรบอลร้านขายอาหาร

4. ร้านขายอาหาร

หากใครไปดูฟุตบอลไทยที่สนาม มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วกับการที่เราต้องซื้ออาหารและเครื่องดื่ม เพราะก่อนเกมก็ต้องไปล่วงหน้าอย่างน้อยๆ 2 ชั่วโมง และเกมแข่งขันอีกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ฉะนั้นที่อังกฤษก็คล้ายๆ กัน

  • สนามฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษ จะมีร้านขายอาหารของสโมสรตั้งอยู่ หรือถ้าเป็นทีมขนาดเล็กลงมาก็จะเป็นร้านลักษณะแผงลอย โดยมีเมนู แซนด์วิช แฮมเบอร์เกอร์ ขนมปัง หรือไส้กรอก แน่นอนว่าเสียงร่ำลือจากคนไทยที่เคยไปต่างบอกว่ารสชาติเหมือนกินกระดาษดีๆ นี่เอง ส่วนในช่วงฤดูหนาวก็จะมีเครื่องดื่มร้อนจำหน่าย ฉะนั้นเมื่อโควิด-19 ระบาด และแฟนบอลเข้าสนามไม่ได้ รายได้จากส่วนนี้จึงเป็นศูนย์ในทันที
  • นอกจากนี้ยังไม่ได้รวมร้านขายอาหารหรือบาร์ ที่อยู่ใกล้ๆ สนาม เพราะในทุกๆ นัดที่มีการแข่งขัน กองเชียร์ฮาร์ดคอร์จะต้องมาดื่มกินและสังสรรค์กันตั้งแต่เช้าก่อนฟุตบอลเตะ รวมถึงหลังเกมจบอีกหนึ่งหน ฉะนั้นการบาดระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้แฟนบอลไม่สามารถมาชมเกมที่สนามได้ ยังทำให้ร้านอาหารรอบๆ สนามต่างได้รับผลกระทบไปด้วย

สโมสรบอลการทัวร์สนาม

5. การทัวร์สนาม

การทัวร์สนาม กลายเป็นรายได้หลักอีกช่องทางของสโมสรใหญ่ๆ ที่จะนำประวัติศาสตร์ของตนเองมาแปลงเป็นมูลค่าผ่านการเข้าชม แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้จากส่วนนี้กลายเป็นศูนย์อีกเช่นกัน

  • สโมสรใหญ่ๆ เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เชลซี, อาร์เซน่อล, แมนเชสเตอร์ ซิตีและสโมสรอื่นๆ ซึ่งมีอายุการก่อตั้งมายาวนานนับร้อยปี พร้อมกับความสำเร็จที่มากมายล้นตู้โชว์ ทำให้พวกเขามีแนวคิดที่จะนำความภาคภูมิใจตรงนี้ส่งผ่านให้กับแฟนบอลในท้องถิ่นและจากต่างประเทศ ผ่านการทัวร์สนามในวันที่ไม่มีการแข่งขัน
  • การทัวร์สนาม ได้สร้างรายได้ให้แก่สโมสรใหญ่ๆ นับล้านปอนด์ต่อปี โดยกลุ่มที่เข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุดคือ กรุปทัวร์ฝั่งเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย ที่ต่างหลั่งไหลไปยังที่นั่นแบบไม่ขาดสาย กระทั่งโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางข้ามประเทศไม่สามารถทำได้ จนทำให้การทัวร์สนามต้องร้างไปกว่า 10 เดือนแล้ว

สำหรับรายได้ 5 ช่องทาง ที่โควิด-19 ทำพิษ แน่นอนว่าสร้างความเสียหายแก่ทุกคนในวงกว้าง ทำให้นับจากนี้คงต้องฝากความหวังไว้ที่วัคซีน ว่าขอให้ตัวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสามารถแจกจ่ายกับชาวโลกทุกคนได้ในเร็ววัน เพื่อที่เราจะกลับไปดูฟุตบอลในสนามได้ดังเดิมอีกครั้ง

บทความอื่นๆ